ถ้าเอ่ยชื่อ “บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” โดยเฉพาะชาวไทยที่นับถือคริสต์ศาสนาจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี
เพราะท่านคือ ผู้ที่ได้รับยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็น “มรณสักขี” และได้รับการประกาศเป็น “บุญราศี” เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2543 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม โดย “สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2”!! หรือนับจากวันที่ท่านได้เสียชีวิตไปถึง 56 ปี!!
โดยในวันที่ 12 ม.ค. 2587 หรือวันนี้เมื่อ 74 ปีก่อน “บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” ได้สิ้นลมในเรือนจำบางขวาง จากอาการวัณโรค ขณะอายุได้ 49 ปี
และต่อมาคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 มกราคม ของทุกปีเป็นวันระลึกถึงบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง
ถึงตรงนี้ หลายคนอยากทราบเรื่องราวของ“บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” อีกครั้ง
“บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง” เป็นบาทหลวงชาวนครปฐม สังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เมื่อรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงแล้วได้ทำงานแพร่ธรรมในหลายจังหวัด
แต่เมื่อเมืองไทย เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้น บาทหลวงบุญเกิด ถูกตำรวจจับในข้อหา “กบฏภายนอกราชอาณาจักร” โดยศาลตัดสินให้จำคุก 15 ปีที่เรือนจำกลางบางขวาง แต่ในที่สุดท่านก็ถึงแก่กรรมด้วยวัณโรคหลังจากติดคุกได้ 3 ปี
บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2438 ที่จังหวัดนครปฐม มีนามเดิมว่า “ชุนกิม” เป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดามารดาชื่อ ยอแซฟ โปชัง และ อักแนส เที่ยง กฤษบำรุง ได้รับศีลล้างบาปที่โบสถ์นักบุญเปโตร สามพราน ได้รับศาสนนามว่า “เบเนดิกโต”
ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลในจังหวัดนครปฐม แล้วย้ายไปเรียนที่เซมินารีพระหฤทัยของพระเยซู บางช้าง เป็นเวลา 8 ปี แล้วย้ายไปเรียนที่วิทยาลัยกลาง เมืองปีนังอีก 6 ปี
ช่วงนั้น ท่านได้รับอนุกรมน้อยขั้นอุปพันธบริกร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2468 และเป็นพันธบริกรเมื่อวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน แล้วกลับมารับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2469 ขณะมีอายุได้ 31 ปี
ทั้งนี้ บาทหลวงบุญเกิดได้ปฏิบัติศาสนกิจในหลายท้องที่ เช่น เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์บางนกแขวก (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก) (2469-2471), เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์เซนต์นิโกลาส พิษณุโลก (2472-2473), เป็นมิชชันนารีแพร่ธรรมที่ภาคเหนือของประเทศไทย (2473-2480), เป็นอธิการโบสถ์โคราช (ปัจจุบันคืออาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา) และโบสถ์นักบุญเทเรซา โนนแก้ว (2480-2481)
ระหว่างนั้นเอง เมืองไทยได้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนขึ้นกับประเทศฝรั่งเศส ว่ากันว่า สังคมไทยเวลานั้น ถ้าพูดถึงคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส จึงถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย ถึงขนาดมีการการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ
และในที่สุด “บาทหลวงบุญเกิด” ซึ่งทำงานแพร่ธรรมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2484 โดยตั้งข้อหาเป็น แนวที่ 5 ของฝรั่งเศส ในที่สุด ท่านถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหากบฏภายนอกราชอาณาจักร ที่เรือนจำกลางบางขวาง