บทความของมิสชั่น ฉบับที่ 10

       งานฉลองชุมชุนแห่งความเชื่อ

       ธรรมเนียมการ “ฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “ฉลองวัด” ของพระศาสนจักร ในประเทศไทยเรา เริ่มมีมานานเท่าไหร่ ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ถ้าจะสัณนิษฐาน ก็คงจะเริ่มเมื่อ บรรดาธรรมทูต ได้เริ่มก่อร่างสร้างกลุ่มคริสตชน และใช้การฉลองชุมชน เป็นการอบรม และการสั่งสอน ความเชื่อ เพราะตามธรรมเนียมดั้งเดิมของคริสตชนเรา จะมอบชุมชนแห่งความเชื่อ ไว้ในความดูแลของ พระเป็นเจ้า แม่พระ นักบุญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างตามธรรมเนียมปฏิบัติของพระศาสนจักร

 

                การฉลองนั้น ไม่ได้แค่เป็นเพียงแค่การเตรียมจิตใจคริสตชนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาส ที่จะเปิด ชุมชนให้เพื่อนบ้าน คนต่างศาสนาเข้ามาร่วมยินดี ด้วยการละเล่นต่างๆ การแสดงและการเลี้ยงอาหาร ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความชื่นชมยินดี และการแบ่งปัน

                ผมมองเห็นว่า การฉลองชุมชนแห่งความเชื่อนั้น ต้องได้รับอิทธิพลอย่างมาก จากพระศาสนจักร ตะวันตก บวกผสมการปฏิบัติแบบตะวันออกได้อย่างลงตัว ที่ประเทศอิตาลี หรือหลายประเทศในยุโรป มีการฉลองชุมชน ซึ่งก็มีส่วนคล้ายและไม่คล้ายกับบ้านเรา เพราะเกี่ยวข้องกับพื้นที่และสภาพอากาศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนในยุโรปมักออกนอกบ้าน และรวมกลุ่มไปไหนมาไหนในฤดูร้อน ถ้าการฉลอง นั้นจัดในฤดูร้อน จะดูครึกครื้นกว่า แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว และไม่มีสถานที่ใหญ่ๆ สำหรับรวมผู้คนไว้ด้วยกัน ก็จะไม่ค่อยมีกิจกรรมข้างนอกสักเท่าไหร่ แต่บางแห่ง ก็อาจจะมีจัดกิจกรรมทางความเชื่อ และการรื่นเริง

ได้เหมือนกัน ตามแต่ท้องถิ่นและวัฒนธรรม

แม้ แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีชุมชนคาทอลิก อย่างเช่น เวียดนาม ก็ใช่ว่า ทุกแห่งจะมีการ ฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ เหมือนกับบ้านเรา บางแห่งอาจจจะจัดลำบาก เพราะระเบียบการปกครอง ที่เคร่งครัด หรือทำกันแค่ภายใน หรือไม่ทำเลย ในประเทศลาวเองการฉลองชุมชนแทบจะไม่มีเลย การจัดงานใหญ่ๆ สักงานหนึ่งสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งปัจจุบัน บางแห่งลดความเคร่งครัดไปมาก บางแห่งขอแต่เพียงได้แจ้งอย่างชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง ก็มักจะได้รับอนุญาตไม่ยากนัก ซึ่งเราคงจะเคยได้ยินเป็นงานๆไป เช่น การบวช การแต่งตั้งพระสังฆราช งานคริสต์มาส หรือปัสกา

 

ใน ประเทศกัมพูชาเอง เรื่องการฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกควบคุมเคร่งครัด เลยในทุกเขต หากกลุ่มคริสตชนที่ได้คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น งานนั้นก็ สามารถจัดได้โดยง่าย แต่ก่อนเวลาฉลองคริสต์มาสหรือปัสกาต้องขออนุญาต แต่ปัจจุบัน จัดพิธีได้อย่าง เสรี และเหมือนกับทางลาวบ้าง ที่อาจจะมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทราบ หรือเชิญร่วมงานเลยก็มี เช่น งานถวายตัว งานบวช หรืองานแต่งตั้งพระสังฆราช เป็นต้น

แต่ สำหรับ เรื่องฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ พระศาสนจักรไทยเราได้พัฒนาอย่างมีรูปแบบและ มีระบบ ซึ่งผมถือว่า ไทยเราจัดงานแบบนี้ได้อย่างน่าชื่นชม และน่าประทับใจ ซึ่งเราบางคน อาจจะ เคยได้ยินชาวต่างชาติที่มาร่วมงานพิธีฉลองในประเทศไทย ก็จะรู้สึกทึ่งและประทับใจในหลายๆงาน

รูปแบบส่วนใหญ่ที่เรามักจะทำกันคือ

เริ่ม มีการประชุม และแบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยเฉพาะเจ้าอาวาสและสภาอภิบาล จะเป็นตัว ขับเคลื่อน การประสานงานความร่วมมือของพี่น้องสัตบุรุษในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อเตรียมทุกเรื่อง ที่จำเป็นภายนอก มีการแบ่งหน้าที่กันทำ เช่น การทำความสะอาด ตกแต่ง บทเพลงและพิธีกรรม การต้อนรับ อาหาร ฯลฯ

เริ่ม การฉลองตรีวาร หรือ มีสามวาระ หรือสามครั้ง เพื่อเตรียมฝ่ายวิญญาณ เป็นโอกาสได้รับ คำสอนมากขึ้น ได้แก้บาปรับศีลฯ ได้รื้อฟื้นหรือฟื้นฟูชีวิตภายใน ซึ่งอาจ จะจัดให้มีการเชิญพระสงฆ์จาก ที่ต่างๆ มาเทศน์ ในหัวข้อความเชื่อที่ตั้งไว้เป็นพิเศษตามกาลเทศะ

ใน วันฉลอง จะเป็นวันที่ถูกเลือกให้ใกล้กับวันฉลองพระเยซู แม่พระ หรือนักบุญองค์อุปถัมภ์ของ วัดที่สุด ตามปฏิทินพิธีกรรม ซึ่งในวันนั้น จะมีการต้อนรับพี่น้องสัตบุรุษที่มาจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล พิธีกรรมเริ่มตามเวลาที่กำหนด ซึ่งอาจควบรวมโอกาสพิเศษไว้ด้วย ตามแต่กาลเทศะ เช่น งานบวช งานถวายตัว และในตอนท้ายพิธี ถ้าประธานในพิธีกรรมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นพระสังฆราช หรือพระสงฆ์ อาวุโส ก็จะมีการให้โอวาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการย้ำเตือนเรื่องความเชื่อและคุณธรรมคาทอลิก

ปิด ท้ายงานฉลองวันนั้น ด้วยการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า เป็นเรื่องของ การแสดงความรัก และการแบ่งปันกันอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้เป็นคุณธรรมแบบคริสตชนที่มาช่วยเหลือกัน ในเรื่องอาหาร บ้างก็เป็นการทำบุญก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ที่กำลังต้องการในชุมชน เช่น การสร้างวัด สร้างหอระฆัง สร้างอาคารเอนกประสงค์ ฯลฯ โดยผู้ทำบุญ เชื่อว่าเป็นการทำความดี ได้รับความสบายใจ อิ่มบุญ แต่ในความหมายแบบคาทอลิกคือ การได้ปฏิบัติความรัก ตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร เป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า และมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงอวยพร

ดังนั้น ถ้าจะสรุปว่า เราฉลองชุมชนแห่งความเชื่อ เพื่ออะไร? ณ จุดๆ นี้เราอาจจะได้เคยได้ยิน พระสงฆ์เทศน์อยู่บ่อยๆ นั่นคือ

๑. เป็นการรื้อฟื้นความเชื่อภายในของคริสตชนแต่ละคน ที่อยู่ในชุมชนนั้น เพราะจะมีการกระตุ้น การประชาสัมพันธ์งานนี้ ให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งคริสตังที่ดี จะเริ่มย้อนมองดูชีวิตภายในของตนเอง ในแต่ละปีว่า ความเชื่อความศรัทธา หรือการปฏิบัตของตน ในกลุ่มคริสตชน ในพระศาสนจักรย่อยๆ ในบ้านนั้น ได้ทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน? บางแห่งอาจมีกิจกรรมพิเศษ ที่ทำกันในชุมชน เช่น การสวดภาวนาด้วยกัน เป็นพิเศษ ตามบ้าน ตามคุ้ม ซึ่งน่าเสียดายว่า คริสตังบางคนทำงานจนลืม การรื้อฟื้นชีวิตภายในของตน 

๒. เป็นการรื้อฟื้นความหมายของธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระศาสนจักร ซึ่งเป็นคำสอนที่ พระสังคายนาวาติกันที่สอง ได้เน้นมาเป็นอันดับแรก ในกลุ่มคริสตชนเป็นที่ที่เราสามารถแสดงความรัก และคุณธรรมแบบคริสตชนได้เป็นแห่งแรก ทั้งยังเป็นเครื่องหมายของการประกาศพระวรสารได้อย่างดี เพราะการฉลองชุมชนในบ้านเรา ส่วนใหญ่เป็นการฉลองแบบเปิด ซึ่งพี่น้องต่างความเชื่อสามารถ มาร่วมงานได้อย่างเสรี คนจนๆ รอบชุมชน ควรได้รับการเชิญเข้ามาเป็นพิเศษ เพื่อนต่างศาสนา ควรได้รู้จักเรามากขึ้น เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองได้รับรู้คุณธรรมทางศาสนาเรา คริสตชนในชุมชน ยังได้มีส่วนร่วม ตามพระพรของพระจิต ที่ให้มา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังกาย ความคิด ปัจจัย ฯลฯ

                ๓. เป็นการขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ผ่านทางองค์อุปถัมภ์ของวัด ที่ได้มอบไว้ในความดูแลของ ท่าน แบบอย่างและคำสอนของท่าน ได้ถูกนำมากระตุ้นเตือนให้คริสตังในชุมชนนั้นได้พยายามเลียนแบบ เป็นการแสดงการโมทนาคุณฝ่ายจิตใจในพิธีกรรม

                ถ้าประเทศในอาเซียนเปิดมากขึ้น ทำไมเราถึงจะไม่เอาธรรมเนียมดีๆ เหล่านี้ไปช่วยเพื่อนพี่น้อง คริสตังในประเทศเพื่อนบ้านบ้างเล่า? ในประเทศเขมร เริ่มมีการฉลองเล็กๆ ภายในชุมชนก่อน เพราะ อุปสรรค สองอย่างที่ยังเป็นปัญหาใหญ่คือ การเดินทาง และความยากจนที่ทำให้คริสตัง ไม่มีกำลังพอ จะไปจัดงานได้ งานฉลองหรืองานชุมนุมใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น มักเป็นการจัดการที่มาจากบรรดาธรรมทูต ที่หาเงินทุนมาจัดการแทบจะทุกอย่าง เช่น เรื่องอาหารและการเดินทาง ต้องออกค่าเดินทางเหมารถ ให้สัตบุรุษ ต้องระดมทุนส่วนใหญ่จากส่วนกลางหรือต่างประเทศ เพื่อเตรียมเรื่องอาหาร ซึ่งมีน้อยมาก ที่มาจากสัตบุรุษ นอกจากนี้ พวกเขายังขาดประสบการณ์การจัดจนเป็นธรรมเนียมแบบบ้านเรา

                ดังนั้น ถ้าพี่น้องคริสตังไทย จะมาช่วยกันส่งเสริม ขอให้ซักถามข้อมูลท้องถิ่นก่อนว่า ทางคุณพ่อ เจ้าอาวาสและสภาอภิบาลที่นั้น ได้มีการจัดไหม? และการจัดนั้นทำกันอย่างไร? เพราะจะช่วยให้ น้ำใจดีของพวกเรา ตรงกับความต้องการของชุมชน…นั่นเท่ากับช่วยให้พวกเขามีกำลังใจในการประกาศ พระวรสารอีกช่องทางหนึ่ง ในแบบของพวกเขา ด้วยความช่วยเหลือของพวกเรา…