ช่วงนี้เรากำลังอยู่ช่วงเทศกาลปัสกา พระวาจาบทอ่านที่หนึ่ง ทำให้เราเห็นพระศาสนจักรที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะต้องเจอกับการเบียดเบียน ความยินดีนี้มาจากผลของปัสกา ที่องค์พระผู้เป็นเจ้า ได้กลับคืนพระชนมชีพ… ทำให้ผมคิดถึงปัสกาช่วงโควิดปี 2021 ปีที่สองที่สถานการณ์โควิดยังไม่จากหาย เรามีพิธีล้างบาปในตอนเช้าวันอาทิตย์ เพราะวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ เรามาวัดกันไม่ได้ แต่เช้าวันนั้น ขณะที่สัตบุรุษกำลังทยอยมา ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในวัดด้วย แต่พวกเขาอยู่ด้านล่าง วัดอยู่ด้านบน หลายคนทราบว่าตำรวจมา บางคนก็รีบเดินออกไปหลบหลังวัด บ้างไปอยู่ที่ตึกสอนคำสอน หรือ ไปอยู่ที่ห้องประชุม พวกตำรวจไม่ได้ขึ้นมาข้างบน และเรายังไม่ได้เริ่มพิธี หลังจากซิสเตอร์ได้แจ้งไปว่า ชาวบ้านเขามาภาวนากันแล้วก็กลับ พวกตำรวจได้ฟังแล้ว ก็กลับไป พวกเราก็รวบรวมกันเหมือนเดิม พร้อมร้องเพลงสรรเสริญพระ ต้อนรับสมาชิกใหม่ด้วยความตื่นเต้นยินดี นี่เป็นสถานการณ์ที่เราได้รับการเบียดเบียนจากโควิด
ปีที่แล้วเราเปิดกิจกรรมในวัดได้เกือบปกติ และปีนี้แทบจะเหมือนเดิมแล้ว การจัดกิจกรรมแบบรวมคนมากๆ สามารถทำได้ ในช่วงเข้าเงียบประจำเดือนสั้นๆ(24-26/4/23) ของพระสงฆ์ที่ทำงานตามวัดในมิสซัง 30 กว่าองค์ และวันสุดท้ายได้เชิญพระสงฆ์ที่ไม่ได้ทำงานตามวัด มาร่วมอีก 30 กว่าองค์ ทำให้เห็นว่า มิสซังมีคนงานในท้องนาแห่งนี้มากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามส่วนใหญ่ยังเป็นธรรมทูตจากต่างชาติ น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ 70% จะเป็นคนเอเชีย ฝรั่งมิชชันนารีแบบในอดีตได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
พระคุณเจ้าโอลีเวียร์ ได้นำเอกสารของสหพันธ์พระสังฆราชแห่งทวีปเอเชีย(FABC)โอกาสฉอง 50 ปี ซึ่งมีการจัดประชุมที่บ้านผู้หว่านที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจจริงๆ มีทั้งพื้นฐานทางเทววิทยาแบบเอเชียเราด้วย และบรรยากาศของซีน็อด ที่พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องเดินทางไปด้วยกันกับพระศาสนจักรสากล เอกสารนี้ช่วยสะท้อนสภาพปัจจุบัน และมองประเด็นต่างๆ เช่น คนอพยพ ชนกลุ่มน้อย, ครอบครัว, ผู้หญิง, ความหลายหลากทางเพศ, เยาวชน, การใช้เทคโนโลยีดิจิตอล, การเติบโตทางเศรษฐกิจในบริบทของเมืองและโลกาภิวัฒน์, การดูแลบ้านพื้นฐาน(โลก)ของเรา และ การเป็นผู้สร้างสะพานแห่งการเสวนาและการคืนดีกันในเอเชีย ซึ่งจะเห็นว่า พระศาสนจักรไม่ได้ทำแต่เรื่องงานอภิบาลเท่านั้น แต่ต้องทำควบคู่ไปกับงานประกาศพระวรสารแบบเอเชียของเราด้วย ผมคิดว่าถ้าแต่ละสังฆมณฑลจัดลำดับความสำคัญ ในประเด็นที่สอดคล้องกับพื้นที่ ก็จะทำให้เป้าหมายการทำงานของ FABC เกิดเป็นรูปร่างและทำให้พันธกิจของพระเยซูเจ้า ที่ทำพระอาณาจักรของพระเจ้าได้เป็นจริงมากขึ้น
พระศาสนจักรที่กัมพูชาซึ่งรวมทั้งที่ประเทศลาวด้วย ยังมีหลายเรื่องที่ยังทำไม่ได้แบบพระศาสนจักรในประเทศไทยเรา อย่างเรื่องโครงสร้างพระศาสนจักรพื้นฐาน เพราะเนื่องจากเป็นประเทศกำลังประกาศพระวรสาร แต่เรื่องพื้นฐานที่ทางมิสซังพนมเปญกำลังตั้งเป้าไว้คือ การประกาศข่าวดี, เรื่องครอบครัว, กระแสเรียก และงานคำสอน ซึ่งความสำคัญลำดับแรกๆของมิสซังนี้
โอกาสวันผู้เลี้ยงแกะที่ดี(Good shepherd) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 เทศกาลปัสกาที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชา ได้จัดให้มีวันชุมนุมกระแสเรียกสองวันที่หมู่บ้านจอมกาเตียง จ.ตาแก้ว ปีนี้เกินคาด เพราะคาดว่าจะมีเด็กมาร่วมงานสักสองร้อยกว่าคน แต่ปรากฏว่ามากันถึง 380 คน มีกิจกรรมแบ่งปันความหมายของกระแสเรียก พยานชีวิต มีคณะนักบวชต่างๆ เกือบ 20 คณะ ได้ตั้งซุ้มกิจกรรม รวมทั้งบ้านเณร นำเสนอรูปแบบชีวิต ในการรับใช้พระองค์และพระศาสนจักรอย่างหลากหลาย เด็กๆหลายคน ไม่เคยได้ยินคำว่า “กระแสเรียก” เลย ดังนั้น เมื่อได้จัดกิจกรรมนี้ ก็ทำกับว่าให้เรื่องคำสอน และชีวิตของพระศาสนจักรให้แก่พวกเขาด้วย
เป็นที่น่ายินดีว่า กิจกรรมการจาริกทางความเชื่อ(แสวงบุญ)เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ของแผนกเยาวชนมิสซัง พระคุณเจ้าได้เน้นเรื่องกระแสเรียก และได้เปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจกระแสเรียกพระสงฆ์ ได้ 5 คน และหลังจากวันกระแสเรียก ก็ได้เพิ่มมาอีก 1 คน รวมเป็นทั้งหมดหกคน (มีสองคน ในจำนวนนี้มีมาจากเขตวัดของผมด้วย) ซึ่งพวกเขาจะเริ่มขบวนการอบรมในต้นปีหน้าเป็น ชั้นปีเตรียมเข้าบ้านเณรใหญ่(propaedeutic year)ต่อไป
พี่น้องคงทราบแล้วว่า การก่อร่างสร้างพระศาสนจักรพื้นฐาน ต้องมีบุคลากรมาจากคนในพื้นที่เอง พวกเขาจะมาสานต่อสิ่งที่บรรดาธรรมทูตได้วางไว้ เหมือนกับที่พระศาสนจักรไทยเราได้รับมา ดังนั้น นอกจากเรื่องการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ภายนอก เราต้องทำโครงสร้างภายในควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับวางพื้นฐานที่จำเป็นให้กับพระศาสนจักรท้องถิ่น
ผมมาในจังหวะที่สัตบุรุษในเมืองหลวงต้องการวัดใหม่ เป็นถาวรวัตถุ ผมใช้เวลาศึกษาและติดตามในแต่ละช่วงงาน ประสานกับหลายบริษัทที่รับเหมางาน แต่เมื่อระยะหนึ่งผ่านไป งานนี้ก็จะเสร็จ แต่งานอีกอย่างซึ่งสร้างไม่มีวันเสร็จ และต้องทำตลอดชีวิต คือ “งานสร้างคน” ซึ่งเป็นงานสำคัญยิ่งกว่าอีก และสิ่งที่ช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพคือ “การศึกษาอบรม” ซึ่งแบ่งได้เป็น 1. การศึกษาอบรมทั่วไป และ 2.การอบรมคำสอนทางศาสนา… ที่วัดผมทุกปี จะมีผู้ใหญ่รับศีลล้างบาปเสมอ ซึ่งต้องเตรียมตัวระหว่าง หนึ่งปีถึงสามปีแล้วแต่คน นี่เป็นเครื่องหมายว่า พระศาสนจักร(วัด)ซึ่งเป็นเหมือนมารดา ได้ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ทุกปี
แต่การอบรมที่ยาวกว่านั้น คือ การอบรมเพื่อเตรียมบุคลากรของพระศาสนจักรท้องถิ่นในอนาคตด้วย คือ “พระสงฆ์ประจำสังฆมณฑล” ผมคิดคำของแจ็คหม่า ที่พูดถึงสิ่งที่ต้องทำในแต่ละช่วงอายุคน ยิ่งเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การคนรุ่นใหม่… ผมค่อยๆ ปรับศูนย์รับเด็กประจำของวัด ให้ค่อยๆเป็นเหมือนบ้านเณรเล็ก นั่นหมายความว่า เป้าหมายหลักระยะหลังๆนี้ ผมเน้นการรับเด็กคาทอลิกมาเรียนมาอบรมในวัด มาก่อนการช่วยเหลือเด็กยากจนจากต่างจังหวัด เพราะเด็กคาทอลิก จะมีการอบรมมากกว่า ส่วนเด็กไม่ใช่คาทอลิก จะได้เรียนคำสอน จนมีบางคนขอสมัครเตรียมตัวเข้ารับขั้นตอนต่างๆ สำหรับการเตรียมผู้ใหญ่เป็นคริสตชนต่อไป หลังจากที่ผมหว่านมาสองสามปี ตอนนี้ มีเด็กบางคน ได้ขอคำแนะนำเพิ่มเติมพิเศษ ในการแยกแยะ พิจารณาไตร่ตรอง เรื่องกระแสเรียกอย่างจริงจัง ซึ่งผมก็หวังว่า แม้เราจะน้อย แต่ถ้าเราได้ทำ พระจิตเจ้าจะทำงานในส่วนที่เหลือและประทานพระพรให้เกิดผล ผมหวังว่า เด็กที่จบเกรด 12 จากที่นี่ จะตอบรับเตรียมตัวเข้าสู่ ปีเตรียมเข้าบ้านเณรใหญ่ต่อไป ขอบคุณพระเจ้า…
ผมขอเป็นกำลังใจให้การสมัชชาใหญ่ เรื่องการอภิบาลกระแสเรียกและการอบรมในบ้านเณรเล็ก ซึ่งเพิ่งจะประชุมเสร็จสมัยที่ 1 ถ้ามีเอกสารอะไรดีๆ ส่งมาช่วยทางนี้บ้างนะครับ… ในเรื่องงานด้านกระแสเรียกนี้ผมต้องขอบคุณประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากคณะเซอร์ร่า ตอนอยู่จันทบุรี ที่เห็นสัตบุรุษน้ำใจดี พยายามมีส่วนช่วยเหลือในการอบรมกระแสเรียก แม้ที่กัมพูชายังไม่มีคณะเซอร์ร่า แต่ผมก็ขอร่วมใจและเป็นกำลังใจกับ งานประชุมเซอร์ร่าโลก (22-25/6/2023) ที่เชียงใหม่นี้ด้วยนะครับ
พี่น้องที่รักครับ ขอให้พวกเราช่วยกันภาวนา หรือสนับสนุนด้านการอบรมกระแสเรียก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับเรื่องกระแสเรียกของบุคลากรในพระศาสนจักร ในระดับต่างๆ เพื่อว่าพวกเขาจะนำความหวังและความยินดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ ไปสู่มนุษย์ทุกคน